วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ฟลาโวนอยด์ (flavonoid)ต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง ต้านโรคหัวใจ


      
     ฟลาโวนอยด์ (flavonoid) เป็นสารประกอบฟีนอลิค มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลในกระแสเลือด ช่วยให้เม็ดเลือดไม่จับตัวเป็นก้อนจนอุดตัน ป้องกันการเกิดมะเร็ง เป็นสารต้านจุลินทรีย์ นอกจากนี้ยังเป็นสารต้านอาการแพ้ ต้านไวรัส ต้านการอักเสบ แต่สิ่งที่น่าสนใจมากที่สุดคือคุณสมบัติในการเป็นสารแอนติออกซิเดนท์ โดยสารฟลาโวนอยด์ (flavonoid) มีความสามารถในการลดการเกิดอนุมูลอิสระ หรือหากเกิดมีอนุมูลอิสระเกิดขึ้นแล้วฟลาโวนอยด์ก็สามารถกำจัดได้

      ฟลาโวนอยด์ (flavonoid พบมากในไวน์และชา ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดในชาวฝรั่งเศสซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมบริโภคเนยและน้ำมันหมูจำนวนมาก ซึ่งเป็นสาเหตุให้ระดับไขมันโคเลสเตอรอลในเลือดสูงและเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง (Hyper tension) ด้วย แต่กลับพบว่าชาวฝรั่งเศสมีอัตราการตายเนื่องจากโรคหัวใจและหลอดเลือดน้อยกว่าชาวอเมริกันซึ่งมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารคล้ายกันถึง 2.5 เท่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะชาวฝรั่งเศสจะนิยมดื่มไวน์หลังอาหารซึ่งมีสารฟลาโวนอยด์อยู่ในไวน์นั่นเอง โดยมีการศึกษาพบว่าการดื่มน้ำองุ่นชนิดสีม่วงในปริมาณแก้วละ 5 ออนซ์ วันละ 2 แก้ว จะช่วยลดการเกาะตัวของเม็ดเลือดได้ถึง 60% ซึ่งทำให้เม็ดเลือดไม่จับตัวเป็นก้อนจนอุดตัน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจ แต่ทว่าไวน์นั้นมีราคาสูงถ้ารายได้น้อยๆ อย่างผมคงจะไม่ไหวจริงๆ คงจะซื้อได้แต่ขวดเปล่า 555+ แต่ถ้าเป็นชาละก็พอไหวครับ สารฟลาโวนอยด์ที่สำคัญ ที่พบมากในชาเขียว ได้แก่ คาเทชิน (catechin) ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ สารแอนติออกซิเดนท์ ช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายได้รับความเสียหายจากอนุมูลอิสระ และยังทำงานร่วมกับสารแอนติออกซิเดนท์และเอนไซม์อื่นๆ ในลำไส้ ตับ และปอด เพื่อป้องกันไม่ให้เซลล์เนื้องอกก่อตัว มีความสามารถในการป้องกันมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีงานวิจัยพบว่าผูที่ดื่มชาเขียวตั้งแต่วันละ 10 ถ้วยขึ้นไป มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารน้อยลง และผู้ที่ดื่มชาเขียวตั้งแต่วันละ 2 ถ้วยขึ้นไป มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับอ่อนน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้ดื่มถึงเกือบ 60% และการดื่มชาประจำก็ให้ผลในการลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจได้เหมือนกันกับการดื่มไวน์อีกด้วย และพบว่าชาที่สกัดเอาคาเฟอีนออกจะให้ผลน้อยกว่าชาที่ไม่ได้สกัดคาเฟอีน

วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ลูทีน (Lutein) ปกป้องจอประสาทตา ป้องกันสายตาเสื่อม


    ลูทีน (lutein) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) แคโรทีนอยด์
กลุ่มแซนโทฟิลล์ เป็นสารที่พบว่าสามารถป้องกันความเสื่อมทางสายตา โดยทำหน้าที่ป้องกันจอประสาทตาจากการทำลายของสารอนุมูลอิสระที่ถูกกระตุ้นโดยแสงอุลตร้าไวโอเลต คอยกรองแสงสีฟ้า ซึ่งเป็นอันตรายต่อจอประสาทตา เช่น แสงจากดวงอาทิตย์ แสงจากจอคอมพิวเตอร์ แสงจากโทรทัศน์ แสงจากหลอดไฟให้ความสว่าง เป็นต้น จึงช่วยให้สายตาของเราเสื่อมได้ช้าลง ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ลูทีน (lutein)ทำหน้าที่เป็นแว่นตากันแดดธรรมชาตินั่นเอง

    นอกจากนี้ยังมีรายงานการวิจัยว่าลูทีน (lutein) ยังสามารถยับยั้งการเกิดโรคมะเร็งในลำไส้ได้อีกด้วย พบว่าในบรรดาสารในกลุ่มแคโรทีนอยด์ทั้งหลายนั้น ลูทีน (lutein)มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการยับยั้งโรคมะเร็งในลำไส้

    ลูทีน (lutein) เป็นสารที่ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์ขึ้นมาเองได้ จะได้รับจากการรับประทานเข้าไปเท่านั้น พบมากในน้ำนมแม่ และผักใบเขียวเข้ม ดังนั้นคุณแม่ควรจะให้ลูกดื่มนมแม่ให้นานที่สุดเพื่อให้บุตรมีสายตาที่ดี ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีไปด้วยเพราะพื้นฐานการเรียนรู้ของเด็กส่วนใหญ่จะเกิดจากการมองเป็นสำคัญ หรือหากมีปัญหาไม่สามารถให้นมบุตรได้ ก็ควรจะเสริมโดยการให้ทานผักใบเขียวแทนเพื่อพัฒนาการและสุขภาพที่ดีของบุตร

ภาพจาก http://news.nipa.co.th

วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ไลโคปีน (Lycopene) สารต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง


       ไลโคปีน (Lycopene) เป็นสารกลุ่มแคโรทีนอีกตัวหนึ่งที่อยากจะแนะนำให้รู้จัก ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ที่กำลังมาแรงและสำคัญไม่แพ้เบต้า-แคโรทีน ไลโคปีน(Lycopene) เป็นสารสีแดงที่พบมากในมะเขือเทศ ไลโคปีน (Lycopene) เป็นสารที่สามารถป้องกันการเกิดโรคเรื้อรังได้หลายชนิดโดยเฉพาะโรคมะเร็งต่างๆ เนื่องจาก ไลโคปีน(Lycopene) มีคุณสมบัติพิเศษในการจับกับ อนุมูลอิสระ (Free radical) ในร่างกายซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญอันหนึ่งของการทำลายสายดีเอ็นเอและนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งในที่สุด หรือที่เรียกกันว่าเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ"แอนตี้ออกซิแดนท์ ( Antioxidant)" นั่นเอง ไลโคปีน(Lycopene) ยังเป็นสารที่มีฤทธิ์ที่ดีมากในการเป็น สารต้านอนุมูลอิสระ ( Antioxidant) ในร่างกายช่วยยั้บยั้งการเกิดออกซิเดชั่นของไขมันชนิด Low density lipoprotein (LDL) ซึ่งเป็นไขมันชนิดไม่ดี จึงสามารถป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดแข็งตัว(Atherosclerosis)ได้นอกจากนี้มีรายงานว่าการรับประทานมะเขือเทศหรือผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศเป็นประจำ จะช่วยลดความความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งที่อวัยวะต่างๆ ที่ชัดเจนที่สุดคือ มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer) รองลงมา คือมะเร็งปอด กระเพาะอาหาร นอกจากนี้ก็ยังแสดงให้เห็นประโยชน์ของการได้รับไลโคปีน(Lycopene) ในการลดความเสี่ยงของ มะเร็งตับอ่อน ลำไส้ใหญ่ (colon) ทวารหนัก คอหอย ช่องปาก เต้านม ปากเป็นต้น

       แหล่งที่พบไลโคปีน (Lycopene) จะพบมากในมะเขือเทศ โดยเฉพาะมะเขือเทศที่ผ่านความร้อนจะทำให้การยึดจับของไลโคปีน (Lycopene) กับเนื้อเยื่อของมะเขือ เทศอ่อนตัวลง ทำให้ไลโคปีน(Lycopene) ถูกร่างกายนำไปใช้ได้ดีกว่า นอกจากนี้ความร้อนและกระบวนการต่างๆในการผลิตผลิตภัณฑ์มะเขือเทศยังทำให้ไลโคปีน (Lycopene) เปลี่ยนรูปแบบ (จากไลโคปีนชนิด "ออลทรานส์"(all-trans-isomers)เป็นชนิด "ซิส" (cis -isomers)) คือ เป็นชนิดที่ละลายได้ดีขึ้น และนอกจากในมะเขือเทศแล้ว ยังพบได้ในฝรั่ง แตงโม และส้มโอ แต่ในมะเขือเทศจะเป็นแหล่งไลโคปีน (Lycopene) ที่พบมากที่สุดและดีที่สุด

วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เบต้า-แคโรทีน (β-carotene) ต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง


     เบต้า-แคโรทีน (β-carotene) เป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ (VitaminA) เป็นสารที่ได้พบได้มากในพืชสีเหลืองส้มหรือเขียวเข้ม สารชนิดนี้เมื่อเรารับประทานเข้าไปจะถูกร่างกายนำไปสังเคราะห์เป็นวิตามินเอมีผลช่วยยับยั้งการเกิดมะเร็ง แต่จากการทดลองวิตามินเอจากสัตว์ เช่น น้ำมันตับปลา พบว่าไม่ให้ผลในการรักษามะเร็ง ดังนั้นสารป้องกันมะเร็งที่แท้จริงคือเบต้า-แคโรทีนในพืชนั่นเอง มีรายงานการทดลองว่าคนที่รับประทานพืชผักที่มีเบต้า-แคทีนน้อยที่สุดจะเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งในปอดมากกว่าถึง 7 เท่าของคนที่รับประทานมากที่สุดในกลุ่ม


ประโยชน์ของบีตา-แคโรทีน (β-carotene)
 
  • - ดูแลรักษาผิวพรรณ
  • - ลดความเสี่ยงต่อภาวะมะเร็ง ลดอนุมูลอิสระซึ่งมีผลเกี่ยวข้องกับมะเร็งเนื้อร้าย ทั้งยังพบว่าเบต้า-แคโรทีนให้ผลกระตุ้นเซลล์ภูมิต้านทาน ในร่างกายที่ชื่อ ที-เฮลเปอร์ให้ทำงานต้านสิ่งแปลกปลอมได้ดีขึ้น ให้ผลดีกับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อมะเร็ง
  • - บำรุงสุขภาพของดวงตา เบต้า-แคโรทีนเมื่อโดนย่อยสลายที่ตับแล้วจะได้วิตามินเอ ซึ่งร่างกายนำไปใช้สร้างสารโรดอปซิน ในดวงตาส่วนเรตินา ทำให้ตามีความสามารถในการมองเห็นในตอนกลางคืนได้ และยังลดความเสื่อมของเซลล์ของลูกตา ลดความเสี่ยงต่อการเป็นต้อ กระจกด้วย
  • - ชะลอความแก่ เบต้า-แคโรทีนให้ผลในการลดความเสื่อมของเซลล์จากอนุมุลอิสระ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดกระบวนการแก่
      สำหรับขนาดรับประทานของวิตามินเอเพื่อรักษาสุขภาพโดยทั่วไปคือ 5,000 หน่วยสากล(IU) ซึ่งเทียบเท่ากับเบต้า-แคโรทีน 3 มิลลิกรัม และสำหรับปริมาณที่สมเหตุสมผลของเบต้า-แคโรทีนที่แนะนำให้รับประทานต่อวัน เพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรงคือ 15 มิลลิกรัม ในขณะที่การรับประทานเพื่อหวังผลในรักษาจะต้องได้รับในปริมาณมากกว่านี้

แหล่งของเบต้า-แคโรทีน (β-carotene) พบได้มากในพืชสีเหลืองส้มหรือเขียวเข้ม เช่น แครอท ฟักทอง ข้าวโพดอ่อน แตงโม หน่อไม้ฝรั่ง แคนตาลูป มะละกอสุก บรอกโคลี ผักบุ้ง มะระ ต้นหอม คะน้า ตำลึง เป็นต้น


ผลข้างเคียง

ขณะนี้ยังไม่พบรายงานผลข้างเคียงที่มีผลเสีย เป็นพิษจากเบต้า-แคโรทีน (β-carotene)

วิตามินซี (VitaminC) ต้านอนุมูลอิสระ


      วิตามินซี (VitaminC) เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ ลักษณะเป็นผลึกสีไม่มีกลิ่น มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่ากรดเอสคอร์บิค (ascorbic acid) ซึ่งเราจะรู้จักกันดีในการป้องกันเลือดออกตามไรฟัน วิตามินซี(VitaminC)มีบทบาทสำคัญในกระบวนการเมตาบอลิซึม (metabolism) ของกรดอะมิโน และทำหน้าที่เป็นโคเอนไซม์ของปฏิกิยาทางชีวเคมีต่างๆในร่างกาย วิตามินซี (VitaminC)เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ที่ดีชนิดหนึ่ง นอกจากนี้ยังช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้อย่างดี วิตามินซี (VitaminC)ยังช่วยลดสารก่อมะเร็งไนโตรซามีนในระบบทางเดินอาหารอีกด้วย ดังนั้นจึงแนะนำว่าหากว่าเรารับประทานอาหารเนื้อสัตว์ที่ผ่านการแปรรูป เช่น ไส้กรอก แหนม เบคอน หรือกุนเชียงซึ่งสารไนไตรท์ ก็ควรแกล้มด้วยกะหล่ำปลีสดมากๆ หรือน้ำสมหรือน้ำฝรั่งสักแก้ว เพื่อให้วิตามินซ(VitaminC)ในกะหล่ำปลีหรือในน้ำผลไม้ไปยับยั้งการเปลี่ยนสารไนไตรท์เป็นไนโตรซามีน

นอกจากนี้วิตามินซี(VitaminC)ยังเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสารชีวะเคมีที่สร้างคอลลาเจน (collagen) ซึ่งเป็นโปรตีนส่วนหนึ่งของโครงสร้างกระดูกอ่อนของมนุษย์ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของผิวหนัง กล้ามเนื้อ และปอดอีกด้วย วิตามินซี(VitaminC)จะสร้างเสริมการผลิตคอลลาเจนมากขึ้น ซึ่งคอลลาเจนเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่จะหยุดยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งได้ และวิตามินซี(VitaminC)ยังเป็นตัวเสริมพลังให้กับวิตามินอีในการต่อสู้กับอนุมูลอิสระอีกด้วย


ประโยชน์ของวิตามินซี (VitaminC) มีหน้าที่หลักๆ  เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ซึ่งจะป้องกันร่างกายจากอนุมูลอิสระ ซึ่งเกิดจากขบวนการออกซิเดชันในร่างกาย หรือจากมลพิษ สิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา ซึ่งจะทำให้เซลล์ต่างๆ เสื่อม หรืออาจเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์ที่ผิดปกติได้ วิตามินซี(VitaminC) ยังทำหน้าที่เป็นตัวช่วย (Cofactor) ในขบวนการต่างๆ ของร่างกาย เช่น การสร้างคอลลาเจน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของเนื้อเยื่อเกี่ยวกับผิวหนัง และของเส้นเลือดให้แข็งแรง ไม่เปราะ ยืดหยุ่นได้ดี และการหายของแผลต่างๆ เป็นปกติ วิตามินซี(VitaminC) ยังช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งสามารถป้องกัน และรักษาหวัดได้ และยังลดการอักเสบจากการติดเชื้อ และยังมีรายงานว่า วิตามินซี(VitaminC)สามารถลดระดับคอเลสเตอรอล  และคลายเครียด เนื่องจากสามารถเสริมการทำงานของต่อมหมวกไต 


อันตรายจากการขาดวิตามินซี
ผู้ที่ขาดวิตามินซี
(VitaminC)มักมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดตามข้อต่อของร่างกาย เลือดออกตามไรฟัน เจ็บกระดูก แผลหายช้า เนื่องจากวิตามินซี(VitaminC)ทำหน้าที่ต่อต้านการอักเสบและช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ของร่างกาย การได้รับวิตามินซี(VitaminC)ไม่เพียงพอจะทำให้เส้นเลือดในร่างกายอ่อนแอ และทำให้บาดแผลที่เกิดขึ้นตามส่วนต่างๆ ของร่างกายหายช้ากว่าปกติ เป็นโรคติดเชื้อได้ง่าย คุณสมบัติของวิตามินซี(VitaminC) คือ เป็นตัวต่อต้านสารก่อมะเร็งและช่วยควบคุมระบบภูมิคุ้มกัน ถ้าร่างกายขาดวิตามินซีจะส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายลดต่ำลงและทำให้ ติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียได้ง่าย ในกรณีของเด็กหรือผู้สูงอายุที่ได้รับวิตามินซี(VitaminC)น้อยกว่าวันละ 10 มิลลิกรัม อาจทำให้เป็นโรคลักปิดลักเปิดได้ หากร่างกายขาดวิตามินซี(VitaminC)มากเกินปกติอาจทำให้มีลูกยาก เป็นโรคโลหิตจางและมีภาวะความผิดปกติทางจิตได้ 


อันตรายจากการได้รับวิตามินซีมากเกินไป
      
เกาต์ เนื่องจากวิตามินซี
(VitaminC)มีหน้าที่ในการช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็กในร่างกาย การรับวิตามินซี(VitaminC)ในปริมาณมากจะทำให้เกิดปัญหาการสะสมธาตุเหล็กตามกระดูกข้อ ต่อต่างๆ มากขึ้น และอาจทำให้เกิดโรคเกาต์ได้ในที่สุด
       นิ่วในไต การได้รับวิตามินซี
(VitaminC)มากเกินไปอาจไปรบกวนการดูดซึมของทองแดงและซีลีเนียม ซึ่งส่งผลให้มีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดนิวในไต หากได้รับวิตามินซี(VitaminC)เกินวันละ 10,000 มิลลิกรัม อาจทำให้ท้องเสีย ท้องอืด ท้องเฟ้อได้


แหล่งของวิตามินซี(VitaminC) ได้แก่ 
         ผักใบเขียวต่างๆ เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บรอกโคลี ผักโขม มะเขือเทศ มะละกอเป็นต้น 
         ผลไม้รสเปรี้ยว เช่น มะขามป้อม อะเซโรลาเชอรี่ ฝรั่ง สับปะรด มะนาว ส้ม สตรอว์เบอร์รี่ เป็นต้น       
         ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม และเครื่องสำอาง

วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วิตามินอี (Vitamin E) ต้านอนุมูลอิสระ


      วิตามินอี(Vitamin E) เป็นวิตามินชนิดที่ละลายในไขมัน วิตามินอี(Vitamin E)ยังมีอีกชื่อเรียกอีกอย่างว่า โทโคฟีรอล(tocopherol) วิตามินอี(Vitamin E) จะถูกดูดซึมผ่านผนังลำไส้เล็กได้ต้องอาศัยพวกเกลือน้ำดีและไขมันช่วยในการดูดซึม วิตามินอี(Vitamin E)ในร่างกายมักสะสมตามกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อไขมัน ส่วนเนื้อเยื่ออื่นๆ จะมีวิตามินอี(Vitamin E)อยู่เพียงเล็กน้อย บทบาทที่สำคัญของวิตามินอี (Vitamin E) คือ

  • เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant)
  • ช่วยป้องกันภาวะหัวใจล้มเหลว
    รักษาสุขภาพของหัวใจ
  • ป้องกันการเป็นหมัน
  • กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้ขยันทำงาน
  • ยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็ง
  • ลดความเสียหายจากภาวะโรคเบาหวาน
  • ยับยั้งการทำลายสมองจากโรคอัลไซเมอร์
  • ช่วยลดระดับคลอเรสเตอรอลในเลือด
       วิตามินอี(Vitamin E)ทำหน้าที่คล้ายกองกำลังลาดตระเวน คอยกลบดานปกป้องผนังเซลล์โดยขะดักจับอนุมูลอิสระที่ผ่านจากเลือดเข้ามา ทำให้อนุมูลเหล่านี้หมดฤทธิ์ในทันที นอกจากนี้วิตามินอี(Vitamin E)ยังช่วยหยุดฤทธิ์ของสารก่อมะเร็งอื่นๆ เช่น สารไนโตรซามีน(nitrosamine) ได้ด้วย ดังนั้นผู้ที่ได้รับวิตามินอี(Vitamin E)จากอาหารเป็นประจำจึงมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและโรคมะเร็งน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับวิตามินอี(Vitamin E)เลย นอกจากวิตามินอี(Vitamin E)จะช่วยป้องกันโรคต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ยัพบว่าวิตามินอี(Vitamin E)บนผนังเยื่อปอดนั้นช่วยป้องกันอันตรายจากมลพิษในสิ่งแวดล้อมให้กับเยื่อปอด วิตามินอี(Vitamin E)ในเลนส์ตาช่วยป้องกันปฏิกิริยาที่ทำให้เกิดต้อกระจก และวิตามินอี(Vitamin E)บนผิวหนังช่วยป้องกันผนังเซลล์ ทำให้ผิวสดชื่น ช่วยชะลอความแก่ วิตามินอี(Vitamin E)จะทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อได้รับการเสริมแรงจากวิตามินซี(Vitamin C)
 

แหล่งของวิตามินอี(Vitamin E) ได้แก่ น้ำมันจากเมล็ดพืชต่างๆ เช่น เมล็ดข้าวโพด เมล็ดฝ้าย เมล็ดทานตะวัน ดอกคำฝอย ถั่วเหลือง และน้ำมันรำข้าว ฯลฯ

วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

สารต้านอนุมูลอิสระ มีอะไรบ้าง?


สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ได้แก่

1.วิตามินอี (Vitamin E)

2.วิตามมินซี (Vitamin C)

3.แคโรทีนอยด์ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

    - แคโรทีน เช่น แอลฟ่า–แคโรทีน เบต้า-แคโรทีน แกมม่า-แคโรทีน ไลโคปีน ซึ่งตัวที่ขึ้นชื่อลือนามในการปราบมะเร็งคือ เบต้า-แคโรทีน และดาวรุ่งที่มาแรงคือ ไลโคปีน

    - แซนโทฟิลล์ เช่น ลูทีน(lutein) ซีแซนทิน(zeaxanthin) และเบต้า-คริปโตแซนซิน(beta-cryptoxanthin) ตัวที่เป็นที่เชิดหน้าชูตามากที่สุดคือ ลูทีน(lutein)

4.สารประกอบฟีนอลิค ได้แก่

    - ฟลาโวนอยด์(flavonoid) เป็นซุปเปอร์สตาร์ของสารกลุ่มนี้ เช่น คาเทชิน(catechin)

    - ไอโซฟลาโวน(isoflavone) เช่น เจนิสทีน(genistein)

    - แทนนินและกรดเอลลาจิค(tannin and ellagic acid)

    - กรดฟีนอลิค ได้แก่ กรดคลอโรเจนิค(chlorogenic acid) กรดคาเฟอิค(caffeic acid) กรดแกลลิค(gallic acid) กรดซิแนพพิค(sinapic acid) เป็นต้น

    สารกลุ่มนี้เป็นสารกลุ่มใหญ่ ยังมีอีกหลายชนิดที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ
(Antioxidant) เช่น โครโมน แซนโธรน เคอร์เซทิน(quercetin) รูทิน(rutin) คูมาริน(coumarine) แอนโธไซยานิน(anthocyanin) เป็นต้น

5.เอนไซม์(enzyme)

6.โคเอนไซม์(co-enzyme) เช่น โคเอนไซม์ Q10

วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

สารต้านอนุมูลอิสระ หาได้จากไหน?


          สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) มีทั่งที่เป็นสารจากธรรมชาติและสารสังเคราะห์ เช่น ฟีนอลิค (phenolic) แคโรทีนอยด์ (carotenoid) วิตามิน (Vitamin) เอนไซม์ (enzyme) และโคเอนไซม์ (co-enzyme) บางชนิด เป็นต้น ซึ่งแต่ละชนิดก็มีหน้าที่แตกต่างกันออกไป บางชนิดพบในเซลล์ร่างกายเราอยู่แล้ว แหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญและนับว่าปลอดภัยที่สุดคืออาหาร ดังนั้นการเลือกรับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระก็จะส่งผลให้เรามีภูมิคุ้มกันที่ดี ช่วยต่อสู้กับอนุมูลอิสระ ทำให้ลดอัตราความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ โดยอาหารที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างมากคือพืชผัก ผลไม้ สมุนไพรพื้นบ้านเนื่องจากเราสามารถหาได้ง่าย ราคาถูก ส่วนใหญ่ก็ขึ้นเองตามธรรมชาติหรือเราจะปลูกเป็นสวนครัวเลยก็จะดีมากเพราะจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการไปซื้อจากร้านค้าได้อีกส่วนหนึ่ง เห็นไหมครับได้ประโยชน์ทั้งสุขภาพดี ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และเป็นการออกกำลังกายไปในตัวด้วยครับ ดังสโลแกนที่ว่า "สุขภาพดี มีตังค์ใช้" อันนี้คิดเองครับ ^_^ นอกจากสารต้านอนุมูลอิสระที่ได้จากอาหารที่เรารับประทานแล้ว ปัจจุบันได้มีการผสมส่วนประกอบของสารต้านอนุมูลอิสระเข้าไปในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหรือเครื่องสำอางบางชนิดอีกด้วย ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ หรือผู้ที่มีปัญหาไม่ชอบทานผัก พืชสมุนไพร ก็อาจจะใช้เป็นอีกแนวทางในการดุแลสุขภาพได้อีกด้วย

วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

สารต้านอนุมูลอิสระ คืออะไร


         สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) เป็นสารที่ทำหน้าที่ป้องกันการเกิดกระบวนการออกซิเดชัน ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญที่ทำให้เกิดอนุมูลอิสระ ช่วยยับยั้งอนุมูลอิสระไม่ให้มีผลทำลายเซลล์ ซึ่งเป็นตัวก่อให้เกิดความบกพร่องหรือโรคต่างๆ โดยสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) จะมีเทคนิคการจัดการดังนี้

  • สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) จะช่วยไม่ให้พวกอนุมูลอิสระก่อตัวขึ้น ยับยั้งการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น ซึ่งเป็นปฏิกิริยาสำคัญที่ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระ ทำให้อนุมูลอิสระไม่มีโอกาสเกิดขึ้นมาสร้างความเดือดร้อนให้กับร่างกาย
  • สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) จะหยุดยั้งปฏิกิริยาลูกโซ่ของอนุมูลอิสระโดยทำให้อนุมูลอิสระคงตัวและเป็นการหยุดการก่อตัวขึ้นใหม่ของอนุมูลอิสระ
  • สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ช่วยซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดจากอนุมูลอิสระทำลายเซลล์ต่างๆ ภายในร่างกาย
  • สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ช่วยกำจัดและแทนที่โมเลกุลที่ถูกทำลายโดยอนุมูลอิสระเพราะโมเลกุลเหล่านี้อาจเป็นพิษและก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้
         กล่าวโดยสรุป คือ สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) จะช่วยยับยั้งการเกิดและกำจัดอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญในการทำลายความสมดุลของระบบต่างๆ ในร่างกาย ดังนั้นการได้รับสารต้านอนุมูลอิสระ(Antioxidant) จะช่วยส่งผลดีต่อร่างกายช่วยลดการเกิดความผิดปกติ ความบกพร่องและลดการเกิดโรคต่างๆ เช่นโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคระบบภูมิคุ้มกันผิดพลาด โรคข้ออักเสบ โรคแก่ก่อนวัย โรคต้อกระจก โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน ฯลฯ เห็นไหมครับ สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ถือว่าเป็นเป็นสารที่สำคัญมากทีเดียวในการดูแลสุขภาพ แล้วสารต้านอนุมูลอิสระหาได้จากไหน? เดี๋ยวเราค่อยไปหาคำตอบจากบทความต่อไปครับ สวัสดีครับ ^_^

วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

อนุมูลอิสระ คืออะไร


อนุมูลอิสระ
       
อนุมูลอิสระสามารถเกิดขึ้นได้เอง จากกระบวนการออกซิเดชัน (oxidation) คำว่าอนุมูลอิสระ ในภาษาอังกฤษเรียกว่า free radical อนุมูลอิสระ เป็นโมเลกุลที่ขาดอิเลคตรอน ปกติโมเลกุลในร่างกายของเราจะมีอิเลคตรอนอยู่วงรอบนอกเป็นคู่ซึ่งทำให้โมเลกุลนั้นคงตัว แต่หากมีการสูญเสียอิเลคตรอนหรือรับอิเลคตรอนมาอีกเพียง 1 ตัว จะทำให้โมเลกุลนั้นไม่คงตัว ก็จะทำให้เกิดเป็นตัวปัญหา คือเมื่อเจอโมเลกุลอื่นก็จะคอยเข้าไปแย่งอิเลคตรอนจากเขามาเพื่อให้โมเลกุลของตัวเองมั่นคง โมเลกุลที่ถูกแย่งมาก็จะกลายเป็นตัวปัญหาแทนเพื่อถูกแย่งอิเลคตรอนไป จึงต้องไปแย่งอิเลคตรอนจากโมเลกุลอื่นมาเป็นของตัวเอง จึงทำให้เกิดปัญหาเป็นทอดๆ ไป ซึ่งเราเรียกปฏิกิริยาของอนุมูลอิสระว่าเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ ถ้าโมเลกุลใดสูญเสียอิเลคตรอนไปก็เท่ากับว่าโมเลกุลนั้นสูญเสียหน้าที่ของมันไปด้วย ดังนั้นปฏิกิริยาของอนุมูลอิสระจึงมีผลทำลายสมดุลของระบบต่างๆ ในร่างกาย ทำให้เกิดความเสียหายและอันตรายต่อร่างกาย นำไปสู่การเกิดโรคบางโรคได้ เช่น โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ โรคข้ออักเสบ โรคแก่ก่อนวัย โรคต้อกระจก โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน(Parkinson) ฯลฯ เป็นอย่างไรบ้างครับเมื่อรู้ถึงพิษสงของอนุมูลอิสระน่ากลัวใช่ไหมครับ แต่ยังไม่ต้องกลัวไปครับ เรายังมีวีรบุรุษทางสุขภาพมาช่วยเหลือ นั่นก็คือ "สารต้านอนุมูลอิสระ" หรือ "สารต้านแอนติออกซิเดนท์" (Antioxidant)